วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

หลักสูตรแกน




              หลักสูตรแกน (The Core Curriculum) ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1900 ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ความพยายามที่จะปลีกตัวออกจากการเรียนที่ต้องแบ่งแยกวิชาออกเป็นรายวิชาย่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือความพยายามที่จะให้หลุดพ้นจากการเป็นหลักสูตรรายวิชา ประการหนึ่ง และความพยายามที่จะดึงเอาความต้องการและปัญหาของสังคมมาเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร อีกประการหนึ่ง

              แรกทีเดียวได้มีการนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ มารวมกันเข้าเป็นวิชากว้างๆ เรียกว่าหมวดวิชา ทำให้เกิดหลักสูตรแบบกว้างขึ้น แต่หลักสูตรนี้มิได้มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาและความต้องการของสังคมมากนัก ดังนั้นจึงมีผู้คิดหลักสูตรแกนเพื่อสนองจุดหมายที่ต้องการ

              1. วิวัฒนาการของหลักสูตร

              วิวัฒนาการของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรแกน เริ่มจากการใช้วิชาเป็นแกนกลางโดยเชื่อมเนื้อหาของวิชาที่สามารถนำมาสัมพันธ์กันได้ เข้าด้วยกัน แล้วกำหนดหัวข้อขึ้นให้มีลักษณะเหมือนเป็นวิชาใหม่ เช่น นำเอาเนื้อหาของวิชาชีววิทยา สังคมศึกษาและสุขศึกษามาเชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อ “สุขภาพและอนามัยของท้องถิ่น” เป็นต้น ต่อมาภายหลังมีผู้คิดปรับปรุง การเชื่อมโยงอีก โดยยึดเอาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกน แล้วกำหนดหัวข้อการเรียนการสอนให้ครอบคลุมวิชาอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า เอาวิชาประวัติศาสตร์เป็นแกนแล้วขยายขอบเขตของเนื้อหาให้ครอบคลุมวิชาศิลปะ ดนตรี วรรณคดี วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามการใช้วิชาเป็นแกนทั้งสองรูปแบบนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์กับปัญหาสังคมปัจจุบัน

              เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงแนวความคิดเสียใหม่โดยถือเอาความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร แต่ก็ปรากฏว่ายังมีข้อพกพร่องอยู่อีก เพราะความต้องการของผู้เรียนกับของสังคมอาจไม่ตรงกันก็ได้ นอกจากนั้นความต้องการนั้นอาจไม่ใช่ความต้องการของผู้เรียนโดยส่วนร่วม อาจเป็นความต้องการของผู้ที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางทำให้พวกที่มาจากชนชั้นสูงและชั้นต่ำถูกทอดทิ้งอย่างไม่เป็นธรรมก็ได้

              ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวความคิดอีก 2 รูปแบบ แบบแรกคือเอาหน้าที่ของบุคคลในสังคมเป็นแกน เช่น การรักษาสุขภาพ การเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม การประกอบอาชีพ การปฏิบัติกิจทางศาสนา การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และการร่วมในกิจกรรมของท้องถิ่น เป็นต้น สำหรับแบบที่สองใช้ปัญหาสังคมเป็นแกน วิธีการที่เลือกว่าปัญหาใดสำคัญอาศัยหลักว่าปัญหานั้นจะต้องมีผลพลาดพิงต่อความเป็นอยู่ของบุคคลหรือสังคมส่วนรวมมีผู้ตำหนิว่าหลักสูตรแกนมุ่งศึกษาปัญหาสังคมและการศึกษาเรื่องของผู้ใหญ่มากเกินไปจนอาจลืมความสนใจของเด็ก     ข้อตำหนินี้มีผู้แก้ต่างว่าตามความเป็นจริงและไม่ได้ละเลยความสนใจของเด็กแต่อย่างใด เป็นแต่เพียง เบนความสนใจเข้าหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้น นอกจากนี้เด็กเองยังมีโอกาสได้ร่วมในการวางแผนและลงแก้มือปัญหาด้วยตนเองอีกด้วย อนึ่ง การศึกษาปัญหาสังคมเป็นส่วนรวมจะช่วยให้เด็กหรือผู้เรียนมองเห็นสภาพและแนวโน้มของสังคมตนอาศัยอยู่ได้ดีขึ้น

              จากวิวัฒนาการของหลักสูตรในสหรัฐอเมริกาทำให้เราพอจะอนุมานได้ว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียน และเป็นหลักสูตรที่เน้นให้เรื่องปัญหาสังคมและค่านิยมของสังคม โดยมีกำหนดเค้าโครงของสิ่งที่จะสอนไว้อย่างชัดเจน

              2. หลักสูตรแกนในเอเชีย

              ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ใช้หลักสูตรแกนอยู่ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย  เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ แต่การตีความหมายของหลักสูตรมีอยู่ 3 ความหมาย คือ

                   1. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรที่นำเอาวิชาต่างๆ มาผสมผสานกัน โดยใช้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมปัจจุบัน ปัญหาของผู้เรียน หรือปัญหาทางประวัติศาสตร์มาผสมผสานกัน

                   2. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้เลือกสรรแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน โดยนำเอาสิ่งที่ได้เลือกไว้แล้วนี้ มาจัดในลักษณะหลักสูตรกว้าง ไม่แยกรายวิชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับบล็อก

บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักสูตร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.พิจิตรา  ธงพานิช สาขาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ผ...