วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ความหมายของการประเมินหลักสูตร (พร้อมวิดีโอ)



เนื้อหา :
              การประเมินหลักสูตรเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศตลอดจนกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อนำมาตัดสินค่าหรือคุณภาพของหลักสูตรนั้นนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการประเมินหลักสูตรไว้ต่างๆ กันดังนี้คือ
              กู๊ด (Good, 1945 : 209) ได้ให้ความหมายไว้ว่าการประเมินหลักสูตรคือการประเมินผลของกิจกรรมการเรียนภายในขอบข่ายของการสอนที่เน้นเฉพาะจุดประสงค์ของการตัดสินใจในความถูกต้องของจุดมุ่งหมายความสัมพันธ์และความต่อเนื่องของเนื้อหาและผลสัมฤทธิ์ของวัตถุประสงค์เฉพาะซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจในการวางแผนการจัดโครงการต่อเนื่องและการหมุนเวียนของกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่จะจัดให้มีขึ้น
              ลี  ครอนบาช (Lee J. Cronbach, 1970: 231) ให้ความหมายว่าการประเมินหลักสูตรคือการรวบรวมข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจในเรื่องโปรแกรมหรือหลักสูตรการศึกษา
              สตัฟเฟิลบีมและคณะ (Stufflebeam Daniel L. et., 1971: 128) ให้ความหมายของการประเมินหลักสูตรว่าการประเมินหลักสูตรคือกระบวนการหาข้อมูลเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีกว่าเดิม
              วิชัย  วงษ์ใหญ่ (2521 : 192) ให้ความหมายของประเมินหลักสูตรไว้ว่าการประเมินหลักสูตรเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับคุณค่าของหลักสูตรโดยใช้ผลจากการวัดในแง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่ประเมินเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกันและสรุปว่าจะให้คุณค่าของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมานั้นว่าอย่างไรมีคุณภาพดีหรือไม่เพียงใดหรือได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดหรือไม่มีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข
              สุจริต  เพียรชอบ (2548 : 64) กล่าวถึงการประเมินหลักสูตรไว้ว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญเพราะเป็นการหาคำตอบว่าหลักสูตรสัมฤทธิ์ผลตามที่ได้ตั้งจุดมุ่งหมายไว้หรือไม่มากน้อยเพียงใดอะไรเป็นสาเหตุผู้ประเมินหลักสูตรจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ดีทั้งทางด้านหลักสูตรและด้านการประเมินผลซึ่งจะต้องเน้นการประเมินทั้งโปรแกรมการศึกษามิใช่แต่เพียงผลการเรียนปีสุดท้ายเท่านั้นแต่ควรประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนด้วย
              จากความหมายของการประเมินหลักสูตรที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่าการประเมินหลักสูตรคือกระบวนการในการพิจารณาตัดสินคุณค่าของหลักสูตรว่าหลักสูตรนั้นๆ มีประสิทธิภาพแค่ไหนเมื่อนำไปใช้แล้วบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไขเพื่อนำผลที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีกว่าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับบล็อก

บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักสูตร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.พิจิตรา  ธงพานิช สาขาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ผ...